วันจันทร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2559

1.อายุรเวท (Ayurrveda) คืออะไร

1.อายุรเวท (Ayurrveda) คืออะไร



อายุรเวทศาสตร์ (Ayurrveda) คืออะไร
  • ศาสตร์แห่งอินเดียที่ยังคงสืบต่อมาจวบจนปัจจุบันมีมากมายทั้งโยคะเพื่อสุขภาพและความงาม โหราศาสตร์อันเก่าแก่ และที่กำลังตื่นตัวกันมากในขณะนี้ก็คือ "อายุรเวท" ซึ่งเป็นศาสตร์ที่เกิดมาเพื่อคุณภาพชีวิตโดยแท้
  • ผู้ที่รักสุขภาพบางคนอาจคุ้นเคยกับโยคะ ซึ่งเป็นศาสตร์ของอินเดียแขนงหนึ่ง แต่อายุรเวทถือเป็นศาสตร์ที่ไม่ควรมองข้ามโดยเด็ดขาด เพราะอายุรเวทจะช่วยให้วิถีชีวิตของคุณสอดคล้อง กลมกลืน และเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ทั้งเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย ตลอดจนการใช้ชีวิตต่าง ๆ 
  • ซึ่งเมื่อปฏิบัติแล้วร่างกายของคุณก็จะเรียนรู้ระบบใหม่หรือวิถีใหม่ที่ดีกว่า ซึ่งตัวคุณเองเป็นผู้สร้างขึ้น แล้วร่างกายก็จะรู้ว่าต่อไปนี้สิ่งที่ร่างกายต้องการคืออะไร แน่นอนว่ามันก็จะปฏิเสธสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัยได้เองโดยอัตโนมัติ ซึ่งก็ถือเป็นกลไกตามธรรมชาติอย่างหนึ่ง ดังนั้นการปฏิบัติตัวตามหลักอายุรเวทจึงถือว่าเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายได้กลับมามีความสมดุลอีกครั้ง และยังว่องไวต่อปฏิกิริยาต่าง ๆ ดุจดังครั้งวัยเด็กหรือหนุ่มสาวด้วย

  • อายุรเวท สอนว่า มนุษย์เป็นเพียงหน่วยเล็ก ๆ ของจักรวาล และจักรวาลก็เป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ (นั่นคือสอนถึงความเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์และจักรวาล มนุษย์เป็นหน่วยเล็ก ๆ ที่ถอดแบบจากจักรวาล ดังนั้นจักรวาลจึงเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ด้วย) เมื่อเปรียบกับสิ่งแวดล้อมภายนอกเอกภพ พลังของมนุษย์ก็ดุจทารก ความเป็นปัจเจกชนของมนุษย์ทำให้ดำรงชีวิตอยู่อย่างแปลกแยกตัวตนจากจักรวาลอายุรเวทมองสุขภาพและการเจ็บป่วยอย่างเป็นองค์รวม (ทั้งร่างกายและจิตใจ) 
  • พินิจพิจารณาอย่างถี่ถ้วนถึงความสัมพันธ์โดยธรรมชาติระหว่าง ปัจเจกบุคคลและอิทธิพลของจิตใจ ปัจเจกบุคคลและสภาวะของสติ (ความรู้สึกตัว) พลังงานและวัตถุ 
  • ดังนั้นในคำสอนของอายุรเวท มนุษย์ทุก ๆ คนประกอบด้วยชีวเคมีและสัญชาตญาณภายในตน ๔ อย่าง: ศาสนา การเงิน การสร้างครอบครัวและสัญชาตญาณในการใฝ่หาอิสรภาพ (หรือกล่าวได้ว่า ต้องการสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ ต้องการความมั่นคงทางการเงิน ต้องการมีผู้สืบสกุลและต้องการความเป็นอิสระ) "สุขภาพที่สมดุล" เป็นพื้นฐานในการบรรลุเป้าหมายตามสัญชาตญาณ ดังกล่าว

  • อายุรเวท ช่วยให้คนปกติรักษาสุขภาพไว้ และช่วยให้ผู้เจ็บป่วยมีสุขภาพดีขึ้น อายุรเวทเป็นศาสตร์ของชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการรักษาทางการแพทย์และอภิปรัชญา เป็นแม่บทแห่งศิลปะการรักษาทั้งหมด 
  • กิจปฏิบัติของอายุรเวทได้ถูกออกแบบเพื่อส่งเสริมให้มนุษย์มีความสุข สุขภาพดีและพัฒนาการเจริญเติบโตอย่างสร้างสรรค์ คำสอนของอายุรเวทครอบคลุมองค์ความรู้ในการปฏิบัติเพื่อบำบัดตนเอง เป็นความรู้ที่ใคร ๆ ก็สามารถฝึกได้ 
  • ด้วยความสมดุลที่เหมาะสมของพลังงานทั้งหมดในร่างกาย การปฏิบัติตามแนวทางอายุรเวทสามารถชะลอความเสื่อม ลดทอนโรคภัยจากกระบวนการทางกายภาพ ตลอดจนกำจัดอาการเจ็บไข้ลงได้อย่างเห็นผลชัดเจน แนวคิดนี้เองคือ "พื้นฐานศาสตร์อายุรเวท" ศักยภาพเฉพาะบุคคลในการบำบัดรักษาตนเอง

  • ศาสตร์แห่งอายุรเวท หากจะกล่าวให้ครอบคลุมเนื้อหาทั้งหมดก็อาจจะต้องเรียนรู้กันเป็นปี ๆ และหากคุณได้รู้จักศาสตร์แห่งอายุรเวทจะทำให้เรารู้ว่าลักษณะภายในของแต่ละคนมีความแตกต่างกันไป การเข้าใจธรรมชาติของร่างกายโดยการทำความรู้จัก "ธาตุประจำตัว" จะช่วยให้คุณสามารถปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของคุณให้เหมาะสม รู้จักดูแลสุขภาพ ปรับความสมดุลของร่างกายให้สอดคล้องกับธาตุประจำตัว คุณจะพบวิธีการฟื้นฟู แก้ไขและบำรุงร่างกายของคุณจากภายในอย่างแท้จริง

► ธาตุทั้งห้า ดิน น้ำ ลม ไฟและอากาศธาตุ ซึ่งประกอบเป็นตัวเรา
  • คุณอาจจะเคยได้ยินคำที่กล่าวไว้ว่า "ดิน น้ำ ลม ไฟ และอากาศธาตุ ซึ่งเป็นธาตุที่หล่อหลอมให้เกิดร่างกาย" ซึ่งคำกล่าวนี้ก็มาจากศาสตร์แห่งอายุรเวท (หลักการหรือทฤษฎีแพทย์แบบชาวตะวันออก แตกต่างจากการแพทย์แบบตะวันตก ทฤษฎีการแพทย์ไทยว่าด้วยเรื่องธาตุทั้ง 4 คือ ดิน น้ำ ลม และไฟ ชาวจีนใช้หลัก 5 ธาตุ และหลักการสรรพสิ่งมีคู่ตรงข้าม คือ ร้อน-เย็น อ่อน-แข็ง หรือหลักการของหยินหยางนั่นเอง สำหรับอายุรเวทซึ่งยอมรับกันว่ามีอิทธิพลกับการแพทย์แผนไทยอย่างมาก) 
  • ธาตุหลักทั้ง 5 จากศาสตร์แห่งอายุรเวทนั้นมีความหมายต่าง ๆ กันดังนี้

"ธาตุดิน"
  • เป็นของแข็ง หรือเป็นของที่ยังทรงรูปร่างได้ในยามที่อยู่ในอุณหภูมิปกติ เช่น กระดูก กล้ามเนื้อ เล็ป ฟัน เส้นเอ็น เป็นต้น
  • คุณสมบัติ หนักแน่น มั่นคง สามารถคงรูปร่างได้
  • หน้าที่ ถือเป็นโครงสร้างของสิ่งต่าง ๆ เช่น กระดูก กล้ามเนื้อ ทำให้ร่างกายคงรูปร่างได้
"ธาตุน้ำ"
  • เป็นของเหลว หรือของที่สามารถไหลเวียนไปมาได้ เช่น เลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง น้ำลาย น้ำมูก น้ำตา เป็นต้น
  • คุณสมบัติ ชื่นฉ่ำ เย็น มีการไหลเวียน เปลี่ยนรูปทรงไปตามสิ่งที่บรรจุนั้น ๆ
  • หน้าที่ ให้ความชุ่มชื้น เป็นตัวนำให้สิ่งที่อยู่ในน้ำไหลไปด้วย เช่น เลือดที่นำไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และยังเป็นสารหล่อลื่นด้วย เช่น น้ำที่หล่อลื่นตามข้อต่อต่าง ๆ
"ธาตุลม"
  • เป็นของที่ไม่มีตัวตน ไม่มีรูปร่าง แต่สัมผัสได้ เช่น ลมหายใจ ก๊าซที่ปล่อยมาที่ทวารหนัก เป็นต้น
  • คุณสมบัติ เบา แห้ง เคลื่อนไหวตลอดเวลา
  • หน้าที่ ทำให้มีการเคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น ทำให้กล้ามเนื้อทำงานได้ดี
"ธาตุไฟ"
  • เป็นพลังงานความร้อน หรือพลังที่สามารถเปลี่ยนสภาพได้ เช่น ความร้อนที่ใช้ในการย่อยอาหาร และเผาผลาญกระบวนการต่าง ๆ ในร่างกาย เป็นต้น
  • คุณสมบัติ ร้อน อบอุ่น
  • หน้าที่ เป็นพลังงานในการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ หรือระบบในร่างกาย เช่น ให้ความร้อน แสงสว่าง ทำให้เกิดกระบวนการต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น ช่วยย่อยอาหาร ทำให้ร่างกายได้พลังงานความร้อนและรู้สึกอบอุ่น
"อากาศธาตุ"
  • เป็นช่องว่าง ที่ธาตุอื่น ๆ ที่เหลือสามารถดำรงอยู่
  • คุณสมบัติ ไร้รูปร่าง
  • หน้าที่ เป็นที่ว่างให้สิ่งต่าง ๆ ดำรงอยู่ได้ เช่น ช่องว่างระหว่างข้อต่อต่าง ๆ ช่องว่างระหว่างเซลล์ เพื่อให้เกิดช่องว่างซึ่งจะทำให้เกิดการเคลื่อนไหวได้
  • ธาตุทั้งห้า ดิน น้ำ ลม ไฟและอากาศธาตุ ซึ่งหล่อหลอมรวมเป็นร่างกายนั้น ทุกธาตุล้วนมีความสำคัญและแน่นอนว่ามีความสัมพันธ์ซึ่งเชื่อมโยงกันด้วย หากธาตุใดธาตุหนึ่งเสียสมดุลไปก็ย่อมจะส่งผลเสียต่อส่วนอื่น ๆ ในร่างกายด้วย เช่น ถ้าธาตุน้ำไม่ดี เลือดที่ไปเลี้ยงร่างกายซึ่งนำพาสารอาหารต่าง ๆ ส่งไปหล่อเลี้ยงได้ไม่ทั่วถึง จึงทำให้ธาตุดินไม่ดีด้วย เช่น กล้ามเนื้ออาจลีบ ไม่เติบโตเท่าที่ควร เพราะไม่ได้สารอาหารจากเลือดอย่างเพียงพอนั่นเอง
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน
  • ให้ความหมายของ "อายุรเวท" คือ น. วิชาแพทย์, วิชาที่เกี่ยวกับสุขภาพและการรักษา. (ถือกันว่าเป็นวิชาศักดิ์สิทธิ์และเป็นส่วนหนึ่งของอถรรพเวท). (ส.).


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น