วันอังคารที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2559

1.รู้จักธาตุเจ้าเรือน

1.รู้จักธาตุเจ้าเรือน


มารู้จักธาตุเจ้าเรือน 
ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ในตัวเรา
  • ธาตุ หมายถึง สารประกอบที่มีอยู่ในธรรมชาติ ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลมและธาตุไฟ ซึ่งทั้งสี่ธาตุนี้ มีอยู่ทั้งภายในและภายนอกร่างกายและทั้งหมดมีอิทธิพลต่อสุขภาพของเรา ธาตุที่อยู่ภายนอกคือ สภาพแวดล้อมรอบตัวเรา ธาตุที่อยู่ภายในได้แก่ ส่วนประกอบต่าง ๆ ที่ประกอบขึ้นมาเป็นร่างกายของเรา
  • แต่เดิมนั้นทางการแพทย์แผนไทยได้กล่าวไว้ว่า คนเราเมื่อเกิดมาในร่างกายจะมีส่วนผสมของธาตุทั้งสี่ที่ว่านี้ โดยแต่ละคนก็จะมีธาตุประจำตัวเป็นธาตุหลัก เรียกว่า ธาตุเจ้าเรือน ซึ่งมีอยู่ 2 ลักษณะด้วยกันคือ 
    • ธาตุเจ้าเรือนเกิด ซึ่งจะเป็นไปตามวัน เดือน ปีเกิด 
    • ธาตุเจ้าเรือนปัจจุบัน ที่พิจารณาจากบุคลิก ลักษณะอุปนิสัย ภาวะด้านสุขภาพ ทั้งกายและจิตใจ ว่าสอดคล้องกับลักษณะของบุคคลธาตุเจ้าเรือนอะไร 
  • เมื่อเราทราบแน่ชัดว่าธาตุเจ้าเรือนของเราคือธาตุตัวใดเป็นตัวหลัก เราก็จะสามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการปรับสมดุลของร่างกาย เพื่อป้องกันจุดอ่อนที่ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น
  • หากธาตุทั้ง 4 ภายในร่างกายของเราอยู่ในภาวะสมดุลแล้ว เราก็จะไม่ค่อยเจ็บป่วย หรือเรียกได้ว่าสุขภาพดี 
  • แต่ถ้าหากว่าธาตุทั้ง 4 ของเราเกิดขาดความสมดุลเมื่อใด โรคภัยไข้เจ็บที่เกิดจากจุดอ่อนทางด้านสุขภาพของแต่ละคนตามเรือนธาตุก็จะตามมา 
  • ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันปัญหาความเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้น สิ่งที่สามารถช่วยเราได้ระดับหนึ่งในเบื้องต้นก็คือ การพิจารณาจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารของแต่ละคนในชีวิตประจำวัน 
  • โดยในรสของอาหารและรสของยาแต่ละชนิด จะมีสรรพคุณพิเศษโดยเฉพาะที่เป็นตัวช่วยปรับสมดุลของธาตุ เพื่อป้องกันความเจ็บป่วย เช่น 
    • หากเราท้องเสีย เราควรกินผลไม้รสฝาด เพื่อหยุดอาการท้องเสีย 
    • หากเราเป็นไข้ เราควรกินอาหารรสขม เช่น สะเดาหรือมะระ เพื่อลดไข้ เป็นต้น
  • ตามทฤษฏีโบราณของการแพทย์แผนไทยนั้น จะใช้รสชาติของอาหารเป็นยารักษาโรค โดยรสชาติต่าง ๆ ที่มีผลต่อร่างกาย 
ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ธาตุเจ้าเรือน
  • เราสามารถจดจำกลอนง่าย ๆ ให้ขึ้นใจจากรสยาทั้ง 9 รส ดังนี้

    • ฝาดชอบทางสมาน รสฝาดช่วยในเรื่องการสมานบาดแผล
    • หวานซึมซาบไปตามเนื้อ รสหวานจะซึมซาบไปตามเนื้อ ทำให้เนื้อหนังบริบูรณ์
    • เมาเบื่อแก้พิษต่าง ๆ รสเมาเบื่อ ช่วยแก้พิษเสมหะ พิษไข้
    • ขมแก้ทางโลหิตและดี รสขมช่วยบำรุงเลือด แก้ร้อนในกระหายน้ำ
    • รสมันบำรุงหัวใจ รสมันช่วยแก้เส้นเอ็น บำรุงเส้นเอ็น บำรุงไขข้อ
    • เค็มซึมซาบตามผิวหนัง รสเค็มช่วยแก้โรคผิวหนัง รักษาเนื้อไม่ให้เน่า
    • เปรี้ยวแก้ทางเสมหะ รสเปรียวแก้เสมหะ ฟอกโลหิต ระบายอุจจาระ
    • เผ็ดร้อนแก้ทางลม รสเผ็ดช่วยแก้ลมจุกเสียด แน่นเฟ้อ ขับผายลม
    • รสจืดเย็น ช่วยแก้เสมหะ ขับปัสสาวะ แก้ร้อนในกระหายน้ำ
► เราจะรู้ได้อย่างไร? ว่าเรามีธาตุใดเป็นธาตุหลักหรือธาตุเจ้าเรือน มีจุดอ่อนด้านสุขภาพด้วยโรคอะไร? และควรกินอาหารอย่างไร ให้ตรงกับธาตุเจ้าเรือนของเรา
  • ตามทฤษฏีของการแพทย์แผนไทย จะมีการวิเคราะห์ตาม วัน เดือน ปีเกิด ทำไมจึงกำหนดธาตุเจ้าเรือนของแต่ละคนตามวัน เดือน ปีเกิด เพราะช่วงเวลาที่มนุษย์ปฏิสนธินั้น เป็นช่วงเวลาที่ไข่ของแม่และอสุจิของพ่อมีความสมบูรณ์ที่สุด ความสมบูรณ์นี้ได้มาจากสารอาหารที่พ่อและแม่กิน ซึ่งเกี่ยวข้องกับความสมบูรณ์ของอาหารกับดินฟ้าอากาศในเวลานั้น ๆ แพทย์แผนไทยจึงกำหนดเอาวันปฏิสนธิถือเป็นวันตั้งธาตุหรือธาตุเจ้าเรือนของแต่ละคน 
  • ดังนั้นผู้จะตรวจสอบธาตุเจ้าเรือนควรทราบวัน เดือน ปีเกิดจริง และในบุคคลหนึ่งก็อาจจะมีธาตุได้มากกว่าหนึ่งธาตุ ที่โดดเด่นออกมา เนื่องจากว่า การเกิดของแต่ละคนในแต่ละเดือนนั้น บางท่านเกิดช่วงต้นเดือน บางท่านเกิดช่วงปลายเดือน 
  • ซึ่งนั่นทำให้เกิดการส่งผลต่อฤดูกาลจากธาตุหนึ่งไปอีกธาตุหนึ่ง ซึ่งถ้าอยู่ในช่วงรอยต่อของฤดูกาลแล้วก็มีผลได้เช่นกัน เราจึงเรียกว่าคนธาตุผสม ก่อให้เกิดธาตุหลักและธาตุรองนั่นเอง
•ธาตุดิน ผู้ที่เกิดในช่วงเดือนตุลาคม พฤศจิกายน ธันวาคม
  • ทฤษฏีของการแพทย์แผนไทย ถือว่าธาตุดินเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มั่นคงแข็งแรงที่สุดในร่างกายที่สามารถจับต้องและมองเห็นได้ ซึ่งอยู่ภายนอกและภายในร่างกาย เช่น ผม ฟัน เล็บ ขน หนัง กระดูก ม้าม หัวใจ ตับ ไต ลำไส้ โดยมีสิ่งที่สำคัญในการควบคุมสุขภาพอยู่ 3 อย่าง กล่าวคือ
    • หทัยวัตถุ
      • มีที่ตั้งที่หัวใจ ควบคุมความสมบูรณ์ของหัวใจ เช่น ลักษณะ ขนาด การทำงาน การเต้น ความสมบูรณ์ของกล้ามเนื้อหัวใจ บางตำรากล่าวว่า หทัยวัตถุ เป็นที่ตั้งของจิต
    • อุทริยะ
      • หมายถึง อาหารใหม่ คือ อาหารที่กินเข้าไปใหม่นั่นเอง การซักประวัติการกินอาหารก่อนป่วยนั้นมีความจำเป็นมาก เพราะอาหารคือธาตุภายนอกร่างกายที่เรานำเข้าไปบำรุงหรือปรับธาตุภายใน เรื่องอาหารจึงสำคัญที่สุด ไม่ว่าจะเป็นแพทย์แผนใดหรือโรคทางแผนโบราณ จึงมีเรื่องเกี่ยวกับการกินอาหารที่เรียกว่า กินผิด คือกินไม่ถูกกับธาตุก็จะเจ็บป่วย กินไม่ถูกกับโรค ทำให้อาการแย่ลง ดังนั้นการแพทย์แผนไทยจึงใช้วิธีการกินสมุนไพร อาหารสมุนไพรมาแก้ไขการเสียสมดุลนี้ เป็นการลองผิดลองถูกมาอย่างยาวนาน จนสรุปเป็นหลักการและเหตุผล
    • กรีสัง
      • หมายถึง อาหารเก่า คือกากอาหารในลำไส้ใหญ่ที่จะออกมาเป็นอุจจาระนั่นเอง ลักษณะของอุจจาระเป็นตัวบ่งบอกถึงสุขภาพ หากอุจจาระหยาบ ละเอียด ก้อนแข็งหรือเหลว กลิ่นเป็นเช่นไร เช่น กลิ่นเหมือนปลาเน่า-ธาตุน้ำเป็นเหตุ กลิ่นเหมือนหญ้าเน่า-ธาตุไฟเป็นเหตุ กลิ่นเหมือนข้าวบูด-ธาตุลมเป็นเหตุ กลิ่นเหมือนศพเน่า-ธาตุดินเป็นเหตุ เป็นต้น
  • คนที่มีธาตุดิน เป็นธาตุเจ้าเรือนหลัก โดยปกติจะมีรูปร่างสูงใหญ่ ผิวค่อนข้างคล้ำ ผมดกดำ พูดเสียงดังฟังชัด ข้อกระดูกใหญ่และแข็งแรง มีน้ำหนักตัวมาก ล่ำสันและอวัยวะสมบูรณ์


•ธาตุน้ำ ผู้ที่เกิดในช่วงเดือนกรกฎาคม สิงหาคม กันยายน
    • ได้แก่ สิ่งที่เป็นของเหลวในร่างกาย มีองค์ประกอบที่มีมากที่สุดในร่างกาย เช่น เลือด น้ำลาย น้ำเหลือง น้ำย่อย เป็นต้น น้ำมีความสำคัญทำให้ระบบต่าง ๆ ของร่างกายทำงานเป็นปกติ โดยมีสิ่งสำคัญในการควบคุมสุขภาพอยู่ 3 อย่าง คือ
    • ศอเสมหะ
      • ควบคุมน้ำบริเวณคอขึ้นไปเกี่ยวกับเสมหะ น้ำมูกมีหรือไม่อย่างไร มีมากเวลาใด อาจหมายถึงการทำงานของต่อมต่าง ๆ น้ำเมือก น้ำมูกในบริเวณดังกล่าว
    • อุระเสมหะ
      • ควบคุมน้ำบริเวณอกเหนือกลางลำตัว จากคอลงมาถึงบริเวณลิ้นปี่ เหนือสะดือ 
    • คูถเสมหะ
      • ควบคุมน้ำช่วงล่างจากสะดือลงไป น้ำในลำไส้ น้ำในอุจจาระ น้ำปัสสาวะ น้ำในมดลูก น้ำในช่องคลอด น้ำอสุจิ  เป็นต้น
    • คนที่มีธาตุน้ำเป็นธาตุเจ้าเรือนหลัก โดยปกติ จะมีรูปร่างสมบูรณ์ อวัยวะสมบูรณ์สมส่วน ผิวพรรณสดใสเต่งตึง ตาหวาน น้ำในตามาก ท่าทางเดินมั่นคง ผมดกดำงาม กินช้า ทำอะไรชักช้า ทนหิว ทนร้อน ทนเย็นได้ดี เสียงโปร่ง มีลูกดกหรือมีความรู้สึกทางเพศดี เป็นคนเฉื่อยและค่อนข้างเกียจคร้าน
  • •ธาตุลม ผู้ที่เกิดในช่วงเดือนเมษายน พฤษภาคม มิถุนายน
    • คือ พลังที่เคลื่อนไหวไปมาได้ มองไม่เห็น แต่รู้ว่ามี มีทั้งพลังหยาบ เช่น การผายลม และพลังละเอียด เช่น ระบบประสาท รวมถึงการเคลื่อนไหวทุกชนิด เช่น การหายใจ การบีบตัวสูบฉีดเลือดหัวใจ การไหวเวียนของเลือด การยืดหดตัวของกล้ามเนื้อ การควบคุมความรู้สึกของอารมณ์ สดชื่น ตื่นเต้น กลัว กังวล เจ็บ สั่น เกร็ง เป็นต้น โดยมีสิ่งสำคัญในการควบคุมสุขภาพอยู่ 3 อย่าง คือ
    • หทัยวาตะ
      • ลมที่ควบคุมอารมณ์ จิตใจ การเต้นของหัวใจ ความหวั่นไหว ความกังวล
    • สัตถกะวาตะ
      • ลมที่คมเหมือนอาวุธ หมายถึง เมื่อเกิดอาการจะมีอาการฉับพลัน เจ็บปวดลึก ๆ เหมือนดังอาวุธเสียบแทง จากลักษณะดังกล่าว อาการคล้ายกับภาวะขาดเลือด เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรืออวัยวะใด ๆ ขาดเลือดจะมีอาการเจ็บปวดรุนแรง
    • สุมนาวาตะ 
      • ลมที่ควบคุมพลังที่อยู่เส้นกลางลำตัวตามแนวดิ่ง ในตำราการนวดแผนไทย เส้นสุมนา ถูกจัดเป็นเส้นสำคัญในเส้นประธานสิบ เส้นนี้จะวิ่งกลางลำตัวจรดปลายลิ้น เป็นตัวควบคุมระบบประสาท การไหลเวียนโลหิต สมอง ไขสันหลัง เป็นต้น
  • ♦ คนที่มีธาตุลมเป็นธาตุเจ้าเรือนหลัก โดยปกติจะมีผิวหนังหยาบแห้ง รูปร่างโปร่ง ผอม ผมบาง ข้อกระดูกลั่นเมื่อเคลื่อนไหว ขี้อิจฉา ขี้ขลาด รักง่าย หน่ายเร็ว ทนหนาวไม่ค่อยได้ นอนไม่หลับ ช่างพูด เสียงต่ำ ออกเสียงไม่ชัด มีลูกไม่ดกเพราะความรู้สึกทางเพศไม่ค่อยดี
•ธาตุไฟ ผู้ที่เกิดในช่วงเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม
    • มีแหล่งกำเนิดในร่างกายมาจากการสันดาป หมายถึง พลังความร้อนที่ทำให้ธาตุน้ำ ธาตุลมเคลื่อนที่ และรักษาธาตุดินไม่ให้เน่าเปื่อย เช่น การใช้พลังงานต่าง ๆ ไฟน้ำย่อยในระบบย่อยอาหาร กระตุ้นให้จอรับภาพของดวงตารับแสง การทำงานของเซลล์สมอง เป็นต้น โดยมีสิ่งสำคัญในการควบคุมสุขภาพอยู่ 3 อย่าง คือ
    • พัทธปิตตะ
      • คือ ดีในฝัก บางท่านอาจสับสนว่า น้ำดีคือธาตุน้ำ เหตุใดจึงจัดเป็นธาตุไฟ พัทธปิตตะในที่นี้คือการควบคุมการทำงานของน้ำดีและการย่อยสลายจากการทำงานของน้ำดี ส่วนตัวน้ำดีจัดเป็นธาตุน้ำ บ่งบอกอาการทำงานของน้ำดีที่ผิดปกติไป เช่น น้ำดีอุตตัน ภาวะการผลิตน้ำดีของตับผิดปกติ น้ำดีอักเสบ เป็นต้น
    • อพัทธะปิตตะ
      • คือ ดีนอกฝัก หมายถึง การทำงานของน้ำดีในลำไส้ การย่อยอาหาร  ดีนอกฝักพิการจะทำให้เหลืองทั้งตัว ดีในฝักพิการจะถ่ายเป็นสีเขียว
    • กำเดา
      • องค์แห่งความร้อน เป็นตัวควบคุมความร้อนในร่างกาย
  • ♦ คนที่มีธาตุไฟเป็นธาตุเจ้าเรือนหลัก โดยปกติมักจะขี้ร้อน ทนร้อนไม่ค่อยได้ หิวบ่อย กินเก่ง ผมหงอกเร็ว มักหัวล้าน หนังย่น ผมและขนค่อนข้างนิ่ม ไม่ค่อยอดทน ใจร้อน ข้อกระดูกหลวม มีกลิ่นปาก กลิ่นตัวแรง ความต้องการทางเพศปานกลาง
  • อย่างไรก็ตาม คนเราทุกคนแม้จะมีธาตุทั้ง 4 เหมือนกัน แต่มีโครงสร้างของแต่ละธาตุไม่เหมือนกัน บางครั้งอาจพบว่ามีลักษณะบางอย่างไม่ตรงตามธาตุเจ้าเรือนที่กล่าวมาทั้งหมด นั่นเพราะยังมีอิทธิพลต่าง ๆ อีกมากที่ส่งผลกระทบต่อลักษณะและพฤติกรรมของธาตุเจ้าเรือน เช่น อิทธิพลของที่อยู่อาศัย อายุ ฤดูกาล เวลาและพฤติกรรมของบุคคลคนนั้น 
  • อิทธิพลเหล่านี้จะส่งผลให้สัดส่วนของธาตุทั้ง 4 แปรผันไปตามแต่ละบุคคล ทำให้แต่ละคนจะแสดงลักษณะท่าทาง บุคลิกและปัญหาทางสุขภาพที่แตกต่างกัน
  • การเสริมสร้างสุขภาพที่ดี เราควรเริ่มที่ตัวเราเองก่อน เราสามารถเริ่มได้โดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีอายุมากขึ้น หรือต้องรอให้เจ็บไข้ได้ป่วยเสียก่อน และควรดูแลเอาใจใส่สุขภาพของตนเองเป็นประจำด้วย เพื่อให้เรามีสุขภาพที่ดี สมบูรณ์ แข็งแรงตลอดไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น